การสูงวัยจึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้มีชีวิตอันเต็มเปี่ยมด้วยประสบการณ์ ไร้ซึ่งภาระต่างๆ ทั้งยังเต็มไปด้วยอิสระเสรีอย่างที่สุด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอีกประการหนึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ซึ่งอาจนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และจิตใจ ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อการยอมรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจ
โดยทั่วไปแล้ว ความเสื่อมของร่างกายในส่วนต่างๆนั้น เริ่มตั้งแต่อายุ 30 ปี เห็นได้จากพละกำลังที่ถดถอย ความไม่คล่องตัว เมื่อยล้า ติดขัดเข้ามาแทนที่ และจะเห็นชัดเจนขึ้นเมื่ออายุ 60 ปี
ในช่วงวัยทำงานจนถึงวัยกลางคน ร่างกายอาจจะยังดูแข็งแรงดีอยู่ แม้ว่าจะปรากฏริ้วรอยอันเป็นสัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลงบ้างก็ตาม แต่ไม่ทันที่ใครหลายคนจะทันระมัดระวังตัว ความร่วงโรยเสื่อมโทรมของร่างกายก็มาเยือน และนำโรคภัยไข้เจ็บเข้าจู่โจมเราได้อย่างรวดเร็ว
ดังเช่นคนในวัย 60 ปีขึ้นไป กระดูกจะผุกร่อนและบางลง จึงเปราะหักง่าย ต้องระวังการหกล้ม ความสูงลดลงอย่างน้อย 3 เซนติเมตร เพราะการสึกกร่อนของหมอนรองกระดูก นอนไม่ค่อยหลับ ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หูและตาเสื่อมมากขึ้น เช่นเดียวสมองและประสาทต่างๆที่ยิ่งเสื่อมลง และความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุกๆ 5 ปี ตั้งแต่อายุ 65 ปีเป็นต้นไป
วางแผนรับมือชีวิตหลัง 60
เมื่อวันที่ความเปลี่ยนแปลงเดินทางมาถึง สิ่งเดียวที่เราจะทำได้ก็คือยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยความเข้าใจ แต่ถึงอย่างนั้น เราไม่จำเป็นต้องรอคอยช่วงเวลาแห่งการเสื่อมถอยด้วยใจห่อเหี่ยว เพราะเราสามารถเตรียมการรับมือกับสิ่งต่างๆล่วงหน้าได้ตั้งแต่ช่วงอายุที่ยังมีเรี่ยวแรง โดยเฉพาะในช่วง 30 ปีเป็นต้นไป
เตรียมกายให้พร้อม
ร่างกายของคนเราจะเจริญเติบโตเต็มที่ตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนถึงอายุ 25 ปี จากนั้นจึงเริ่มเสื่อม รวมทั้งมีประสิทธิภาพการทำงานช้าลง ดังนั้น การเตรียมร่างกายให้สมบูรณ์จึงอาจกล่าวได้ว่า ต้องเริ่มต้นมาตั้งแต่ขวบปีแรกของชีวิตเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นการบำรุงเฉพาะส่วน เช่น กระดูก ด้วยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ร่วมกับการรับแสงแดดอ่อนๆหรือออกกำลังกายอย่างเพียงพอเพื่อให้ร่างกายนำแคลเซียมไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องหลีกเลี่ยงกาแฟ แอลกอฮอลล์ อาหารรสเค็ม ซึ่งมีส่วนในการขับแคลเซียมออกจากกระดูก นอกจากนี้ ควรเริ่มต้นเตรียมสมองให้พร้อม ด้วยการทำกิจกรรมที่กระตุ้นความคิด จินตนาการอยู่เสมอ เช่น อ่านหนังสือ เขียนบันทึก การเล่นหมากฮอส โกะ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อสะสมไว้เป็นต้นทุนความสมบูรณ์ของสมอง ซึ่งอาจช่วยชะลอความเสื่อมให้ช้าลงไปได้เมื่อเทียบกับคนในวัยเดียวกัน
เคยมีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสมองจากกิจกรรมสองประเภทคือการอ่านหนังสือ และการชมภาพยนตร์หรือดูโทรทัศน์ พบว่า การชมภาพยนตร์ หรือสื่อที่พร้อมด้วยภาพและเสียงนั้น ช่วยให้สมองการทำงานเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การอ่านหนังสือใช้ประสิทธิภาพของสมองถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจาก ต้องมีการตีความ ประมวลความรู้ความเข้าใจ และจินตนาการ การอ่านหนังสือวันละ 15 นาทีเป็นอย่างน้อย จึงเป็นกิจกรรมเสริมการทำงานสมองที่ดีที่สุดอีกทางหนึ่ง การออกกำลังกายควรเริ่มต้นทำเป็นกิจวัตรเสียตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะจะช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น โอกาสความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนก็ย่อมน้อยลง นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังช่วยให้หัวใจ กล้ามเนื้อและข้อต่อ ระบบไหลเวียนเลือด ต่อมต่างๆ รวมทั้งระบบฮอร์โมนแข็งแรงมากขึ้นด้วย
เตรียมใจให้พร้อม
ปัญหาทางจิตใจของคนในวัยนี้มักเกิดขึ้นเนื่องจากการเกษียณจากการทำงาน ทำให้รู้สึกหมดคุณค่าในตนเอง เบื่อหน่าย ไม่มีความสุข โอกาสพบปะเพื่อนร่วมงานที่คุ้นเคยกันก็ลดลง จึงหงอยเหงาว้าเหว่ ดังนั้น การเตรียมการด้านจิตใจนั้น จึงต้องสั่งสมมาตั้งแต่วัยทำงานด้วยเช่นกัน
เริ่มตั้งแต่เพื่อนฝูงที่สนิทสนมกัน ก็ต้องหมั่นเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน และอาจต้องพิจารณาดูว่ามีเพื่อนคนใดบ้างที่สามารถพึ่งพา ไปมาหาสู่กันได้ยามแก่ตัวลง โดยอาจมีกิจกรรมที่เป็นความชอบเอาไว้ทำร่วมกัน เช่น การตีกอล์ฟ เมื่อยามเกษียณจากการทำงาน จะได้มีความสนุกสนานที่ได้กลับมาทำกิจกรรมร่วมกันอีกครั้ง
เช่นเดียวกัน เราต้องรักษาสัมพันธภาพระหว่างสามีหรือภรรยาเอาไว้ให้ดี เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ลูกๆต่างดูแลตนเองได้แล้ว สามีภรรยาก็จะได้กลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้งโดยไม่ห่างเหิน นอกจากนี้ควรหากิจกรรม ความชอบ งานอดิเรก หรือแม้กระทั่งการออกกำลังกายที่ทำร่วมกันได้เอาไว้เสียตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดเพื่อนสนิทกลุ่มเดียวกัน(ที่เป็นทั้งเพื่อนของสามีและภรรยา)เพิ่มขึ้นด้วย
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ อย่าหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ช่วงเวลาเช่นนี้สามารถใช้ในการเรียนรู้สิ่งๆใหม่ที่ท่านเคยมีความสนใจมาตลอด(แต่อาจไม่มีโอกาสทำเลย) ซึ่งนอกจากจะช่วยคลายเหงา ยังอาจเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย
การคบหากับเด็กหนุ่มๆสาวๆก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความกระชุ่มกระชวยในชีวิตได้ เพราะเด็กวัยหนุ่มสาวมักเต็มไปด้วยพลัง ในขณะที่ท่านก็เต็มไปด้วยประสบการณ์ชีวิต การคบหากับเพื่อนต่างวัยจึงนับว่าได้ประโยชน์ต่อกันทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายหนึ่งให้พลังในการมีชีวิตอยู่ กับอีกฝ่ายหนึ่งให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตอย่างรอบคอบ ลูกๆหลานๆที่ท่านมีนั่นเองคือเพื่อนต่างวัยที่ดีที่สุด
นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองอธิบดีกรมการแพทย์ และอดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยกล่าวถึงในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า "อย่ามองโลกช่วงสูงอายุว่าเป็นเวลาของความเสื่อม โดยเอาไปเปรียบเทียบกับวัยหนุ่ม แต่ควรคิดว่าต่างวัยก็ต่างมีบทบาทต่างกัน ยิ่งสูงอายุก็ยิ่งมีประสบการณ์ชีวิตมากที่จะนำมาสอนเป็นบทเรียนให้กับคนรุ่นใหม่ไม่ให้พลาดพลั้งเหมือนเรา
"เมื่อเราอายุมากขึ้นโอกาสของการเป็นปู่ย่าตายายเข้ามาหาโดยอัตโนมัติ จงเล่นบทบาทเหล่านั้นให้ดีที่สุด อย่าทำตนไปตามอายุ แต่จงทำตนไปตามที่เรารู้สึก ใช้โอกาสที่ว่างจากการงานมาสร้างงานอดิเรกใหม่ๆที่เราสนใจและสนุกไปกับมัน"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น